เป็นคำถามคาใจใครหลาย ๆ คนมากเลยนะคะสำหรับข้อนี้ เพราะบางทีเราอาจทำอะไรหรือดำเนินชีวิตไปปกติ แต่อาการท้องผูกก็ดันมาถามหาเราอยู่ดี ซึ่งมันมาจากอะไรกันแน่นะ
ท้องผูกเกิดจากอะไรกันแน่ ?
เป็นคำถามคาใจใครหลาย ๆ คนมากเลยนะคะสำหรับข้อนี้ เพราะบางทีเราอาจทำอะไรหรือดำเนินชีวิตไปปกติ แต่อาการท้องผูกก็ดันมาถามหาเราอยู่ดี ซึ่งมันมาจากอะไรกันแน่นะ… ท้องผูกเป็นอาการที่เกิดเมื่อลำไส้บีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้าในระหว่างการย่อยอาหาร จึงทำให้กำจัดอุจจาระออกจากระบบทางเดินอาหารไม่ได้ และเกิดการตกค้างในลำไส้ใหญ่นานจนมีการดูดน้ำในอุจจาระกลับ ทำให้อุจจาระแห้ง แข็ง และใหญ่ขึ้น ส่งผลให้การขับถ่ายเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยอาการท้องผูกนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุดังนี้
- การใช้ยา
การทานยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาระงับอาการทางจิต ยาแก้อาการชัก หรืออาหารเสริมแคลเซียม และธาตุเหล็ก ยาระงับปวด และยาขับปัสสาวะ - สภาวะทางร่างกาย
ฮอร์โมนจะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความสมดุล ดังนั้นสภาวะบางอย่างที่มีผลต่อฮอร์โมนจึงอาจส่งผลกระทบ ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน เช่น โรคเบาหวาน การตั้งครรภ์ ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ และโรคลำไส้แปรปรวน - ความผิดปกติจากกล้ามเนื้อ
โรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อสามารถส่งผลต่อการบีบตัวของลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ ทำให้เกิดการตกค้างของอุจจาระในระบบทางเดินอาหาร และนำไปสู่อาการท้องผูก เช่น เส้นประสาทถูกทำลายจากโรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน เส้นประสาทไขสันหลังบาดเจ็บ หรือโรคหลอดเลือดในสมอง - ภาวะลำไส้อุดตัน
สภาวะบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการอุดตันภายในลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้ลำบาก และยังคงเหลือค้างอยู่ภายใน เช่น แผลปริขอบทวารหนัก ลำไส้อุดตัน หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่
พฤติกรรมที่เสี่ยงต่ออาการท้องผูก
นอกจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้นแล้ว พฤติกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่างก็อาจจะส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกตามมาได้อย่างไม่คาดคิด เช่น
- การอั้นอุจจาระ
- ทานอาหารที่มีกากใยน้อยเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ เพราะปัจจุบันนี้กินแต่ข้าวขาว ขนมปังขาว ก๋วยเตี๋ยว ขนมเค้ก อาหารเหล่านี้ไม่มีเส้นใย ปกติร่างกายต้องการเส้นใยวันละ 20-25 กรัม
- เคลื่อนไหวร่างกายน้อย
- มีน้ำหนักตัวมากเกินไป หรือน้อยเกินไป
- ดื่มน้ำน้อย ร่างกายขาดน้ำ
- ภาวะเครียด หรือกดดัน เมื่อเกิดความเครียด จะมีอาการเบื่ออาหาร การขับถ่ายก็จะถูกผลกระทบไปด้วยคือ ร่างกายจะระงับการขับถ่ายชั่วคราว รอให้พ้นวิกฤตคลายเครียดแล้ว จึงจะกินง่ายถ่ายคล่อง
- ปัญหาทางด้านจิตใจ
- อยู่ในวัยสูงอายุ
- ไม่ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญอาหาร
- อื่น ๆ เช่น ทานชา, กาแฟ, ยาเคลือบกระเพาะ, ทานแคลเซียมมากเกินไป, ทานอาหารเหลว หรืออาจมีโรคร้ายแรงซ่อนอยู่ เช่น โรคไม่มีปมประสาทตรงทวารหนัก โรคพยาธิไส้เดือนอุดตันลำไส้ เป็นต้น
อาการท้องผูก ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ปกติแล้วอาการท้องผูกจะเกิดขึ้นและหายไป โดยไม่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา แต่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อขับถ่าย ซึ่งถ้ามีการท้องผูกบ่อย ๆ ก็อาจทำให้อุจจาระตกค้างในลำไส้ ส่งผลให้ถ่ายออกมาได้ลำบาก และอุจจาระไปเสียดสีกับผนังลำไส้จนเกิดแผล และถ่ายเป็นเลือด บางรายอาจเกิดอาการริดสีดวงทวารตามมาจากการที่ต้องใช้แรงเบ่งในการขับอุจจาระนั่นเอง